ผมเคยได้เคยเห็นภาพระฆ้องใบนี้มาหลายต่อๆครั้ง เคยได้ยินชื่อวัดนี้มาก็หลายครั้ง เคยได้ผ่านมาอำเภอโขงเจียม ก็หลายครั้ง แต่ไม่เคยได้แวะเลยสักครั้ง และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ตั้งใจว่า ยังไงก็ต้องแวะมาให้ได้ ตั้งใจขับรถจากอุบล มุ่งหน้าสู่อำเภอโขงเจียม และจุดหมายปลายทางคือ “วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ” นั่นเอง
วัดถ้ำคูหาสวรรค์ นับว่าเป็นหนึ่งในวัดสำคัญ ของจังหวัดอุบลราชธานี วัดที่สร้างโดยหลวงปู่คำคะนิง จุลมณี แม้ท่านมรณภาพแล้วแต่ร่างกายไม่เน่าเปื่อย ทางวัดยังคงเก็บรักษาร่างไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ ภายในวัดมีความโดดเด่น ด้วยฆ้องขนาดใหญ่เจดีย์ และจุดชมวิวแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล บ้านเรือนเมืองโขงเจียมและวิวฝั่งลาว

ประวัติ วัดถ้ำคูหาสวรรค์
วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ตามประวัติที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่


วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2521 ดำเนินการก่อสร้าง โดยหลวงปู่คำคะนึง จุลมณี หลวงปู่ที่อาศัยถ้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นชะโงกหิน เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ภายหลังได้มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธามาก ขึ้นจึงได้มีการปรับปรุงพื้นที่ บริเวณปากถ้ำและบริเวณวัดให้เหมาะสมสำหรับปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น และด้วยจุดที่ตั้งของวัดนั้นอยู่บนที่สูงเป็นมุม ที่สามารถชมวิวฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และวิถีชีวิตผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง

ปัจจุบัน หลวงปู่คำคะนิง จุลมณี ได้มรณภาพแล้ว แต่ร่างกายไม่เน่าเปื่อย บรรดาศิษย์จึงได้จัดทำโลงแก้วประดับด้วยเพชรเทียม เป็นที่เก็บรักษาร่างของท่านไว้ให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาได้เคารพสักการะ ที่วัดวัดถ้ำคูหาสวรรค์

หลวงปู่คำคะนิง จุลมณี วัดถ้ำคูหาสวรรค์
หลวงปู่คำคะนิง จุลมณี เกิดวันพุธ เดือนสี่ ปีกุน ที่บ้านหนองบัว แขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บิดาชื่อ คิน ทะโนราช มารดาชื่อ นุ่น มีพี่น้อง 5 คน ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2528 สิริอายุ 91 ปี (พรรษา 46 พรรษา)
หลวงปู่คำคะนิง จุลมณี เป็นพระอริยสงฆ์ที่ได้รับ การกล่าวขานในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์บารมีมากมาย เป็นที่ยอมรับและร่ำลือ กันมากในประเทศไทยและประเทศลาว ก่อนที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์นั้น ท่านมีครอบครัวภรรยา และลูกมาก่อน เมื่ออายุได้ 30 ปี เกิดความเบื่อหน่ายชีวิตครอบครัวจึงได้ออกบวชเป็นฤาษีดาบสแล้วออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร นานถึง 15 ปี ซึ่งอยู่ป่าเป็นวัตรและไม่เคยเข้ ามาอยู่ในหมู่บ้านเลย เคร่งครัดในศีลฤาษีโยคี ฝึกฝนตนเองอย่างเคร่งครัด ละเว้นความชั่วทุกประการ เว้นฉันอาหาร 7 วันบ้าง 15 วันบ้าง บำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้า เพื่อพิสูจน์กำลังใจและความทรหดอดนทนของตนเอง

จากการปฏิบัติตนอย่างฤาษี และเคร่งครัดในข้อวัตรต่าง ๆ ทำให้ได้พบความสุขสงบทางกายและจิตอย่างล้ำลึก มีความสุขที่เปรียบมิได้ ตั้งมั่นในองค์ฌานสมาธิ เป็นฤาษีผู้เก่ง กล้าฌานสมาบัติ เพราะสามารถเข้าฌานได้หลายวัน โดยไม่รู้สึกหิว หรืออ่อนเพลียใด ๆ อยู่ในป่าและถ้ำเขาลำเนาไพรนับพันถ้ำในภูเขาแดนลาว เสวยสุขในฌานจนเบื่อหน่าย เห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ไปสู่มรรคผลนิพพาน หลวงปู่คำคะนิงจึงลาเพศฤาษีเข้าสู่พระพุทธศาสนา อุปสมบถเป็นพระภิกษุเพื่อปฏิบัติธรรมสู่ทางพ้นทุกข์เจริญรอยตามพุทธองค์ แม้จะเป็นพระแต่หลวงปู่

ยังคงอธิษฐานอยู่ป่าเป็นวัตร ปฏิบัติตามธรรมวินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด เพื่อความหลุดพ้นทางจิต และได้ออกธุดงค์ไปจำพรรษาตามที่ต่าง ๆ จนมาถึงฝั่งไทย แม้ว่าท่านจะเป็นพระภิกษุชาวลาว แต่ชีวประวัติท่านได้รับการเผยแพร่มากมายในสังคมไทย
ที่ตั้ง วัดถ้ำคูหาสวรรค์
บ้านด่านใหม่ หมู่ที่ 2 ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
บรรณานุกรม
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ อำเภอโขงเจียม 2540. (2540). ประวัติเมืองโขงเจียม. อุบลราชธานี: รุ่งศิลป์การพิมพ์ออฟเซท.
สุพรรณ์ ก้อนคำ. (2554). เรื่องจริงที่ยังสงสัย บอกได้ชาตินี้เท่านั้น เล่ม 12. นนทบุรี: ธิงค์ บียอนด์ บุคส์.
ติดตามครั้งต่อไปว่า iwegooo จะพาทุกท่านไปที่ไหน ขอบคุณและสวัสดีครับ